ไทยเตรียมส่งมอบ ลีเมอร์และเต่าบก กว่า 900 ชีวิต คืนมาดากัสการ์ ตามนโยบายต่อต้าน ขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินการส่งมอบสัตว์ป่าของกลาง เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย นโยบายเหล่านี้ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์ป่าที่ถูกยึด โดยการดูแลอย่างเหมาะสม และส่งเสริมคุณค่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าในระดับสูงสุด ทั้งนี้ปัญหาการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติที่ซับซ้อนและมีผลกระทบในวงกว้าง การร่วมมือกันในระดับสากลจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรธรรมชาติของโลก

 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานฯ  เตรียมส่งคืนสัตว์ป่าของกลางจำนวน 963 ตัว ประกอบด้วย ลีเมอร์หางวงแหวน ลีเมอร์สีน้ำตาล เต่าแมงมุม และเต่าลายรัศมี กลับสู่ถิ่นกำเนิดที่สาธารณรัฐมาดากัสการ์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ บก.ปทส. จับกุมขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ได้มีมติเห็นชอบให้ส่งคืนสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิตจำนวน 963 ตัว กลับสู่สาธารณรัฐมาดากัสการ์ การส่งคืนสัตว์ป่าครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ

 

สำหรับสัตว์ป่าของกลางที่จะส่งคืนในครั้งนี้ เป็นสัตว์ป่าที่กรมอุทยานฯ ได้รับมอบจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ซึ่งเป็นปฏิบัติการตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยจับกุมได้ที่ จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จำนวนรวม 1,117 ตัว/ซาก เป็นสัตว์ป่ามีชีวิต จำนวน 1,109 ตัว ซากสัตว์ จำนวน 8 ซาก ประกอบด้วย ลีเมอร์หางวงแหวน (Lemur catta) มีชีวิตจำนวน 16 ตัว ลีเมอร์สีน้ำตาล (Eulemur fulvus) มีชีวิตจำนวน 32 ตัว เต่าแมงมุม (Pyxis arachnoides) มีชีวิตจำนวน 877 ตัว ซากจำนวน 6 ซาก และเต่าลายรัศมี (Astrochelys radiata) มีชีวิตจำนวน 184 ตัว ซากจำนวน 2 ซาก หลังการจับกุมนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สั่งการให้นำสัตว์ป่ามีชีวิตไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และมอบหมายให้สัตวแพทย์ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ดูแลตามหลักวิชาการอย่างดี มีการตรวจสุขภาพพร้อมทั้งจัดทำประวัติ และมีการฝังไมโครชิพเพื่อระบุตัวตน

 

ต่อมาสาธารณรัฐมาดากัสการ์ ได้ประสานงานขอข้อมูลคดีและขอความอนุเคราะห์ขอคืนลีเมอร์และเต่าบก เนื่องจากสัตว์ป่า ทั้ง 4 ชนิดนี้ เป็นชนิดเฉพาะถิ่น (Endemic species) ที่พบตามธรรมชาติเฉพาะในสาธารณรัฐมาดากัสการ์ มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และเป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญา CITES การลักลอบค้าสัตว์ป่าชนิดดังกล่าวในปริมาณมากส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายไทย  ซึ่งไทยยินดีส่งคืนสัตว์ป่าของกลางโดยดำเนินการให้สอดคล้องตามระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565  

 

ระหว่างนั้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณรัฐมาดากัสการ์ มาเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อหารือกรณีการส่งคืนสัตว์ป่า และเข้าเยี่ยมชมสัตว์ป่าของกลาง รวมถึงหารือกับผู้แทนหน่วยงานของประเทศไทยเร่งรัดการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและส่งคืนสัตว์ป่าของกลางโดยเร็ว ฝ่ายไทยจึงจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีมติคืนสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิตให้แก่สาธารณรัฐมาดากัสการ์โดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่สัตว์ป่าจากการตายลง คณะกรรมการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าฯ มีมติเห็นชอบการส่งคืนสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิต ส่วนซากสัตว์ป่าให้ทำลาย

 

ทั้งนี้เนื่องจากคดีนี้จัดเป็นคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศด้านสัตว์ป่า บก. ปทส. จึงได้โอนความรับผิดชอบคดีไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นคดีพิเศษ แต่เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุดดีเอสไอและสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ จึงร่วมกันเก็บตัวอย่างทางชีววิทยาของสัตว์ป่าของกลางเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน จากนั้นมอบให้กรมอุทยาน ฯ พิจารณาดำเนินการคืนสัตว์ป่าของกลางได้ตามระเบียบของกรมอุทยาน ฯ ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการและจัดการกับสัตว์ป่าของกลางได้ก่อนสิ้นสุดคดีกรมอุทยาน ฯ จึงได้ประสานกับสาธารณรัฐมาดากัสการ์เพื่อส่งคืนสัตว์ป่าของกลางที่มีชีวิตจำนวนรวม 961 ตัว ประกอบด้วย ลีเมอร์หางวงแหวน (Lemur catta) จำนวน 16 ตัว ลีเมอร์สีน้ำตาล (Eulemur fulvus) จำนวน 31 ตัว เต่าแมงมุม (Pyxis arachnoides) จำนวน 759 ตัว และเต่าลายรัศมี (Astrochelys radiata) จำนวน 155 ตัว 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากปริมาณสัตว์ป่ามีจำนวนมากทำให้ไม่สามารถขนส่งพร้อมกันได้ในคราวเดียว จึงได้กำหนดแบ่งการขนส่งออกเป็น 3 รอบ โดยสายการบินกาตาร์ เที่ยวบินที่ QR 0831 ในวันที่ 28 พฤศจิกายน วันที่ 30 พฤศจิกายน และ วันที่ 2 ธันวาคม 2567 ตามลำดับ

Visitors: 2,121,507