คพ.ออกหลักเกณฑ์การพิจารณาระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษที่จะนำเข้ามาในประเทศ

นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ผลิตได้ในประเทศจะถูกใช้เพื่อการบริโภคในประเทศและเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ส่งออก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษเยื่อใยยาวที่ทำจากไม้สนต่างประเทศที่ไม่มีในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องนำเข้ากระดาษที่ใช้แล้วจากต่างประเทศ หรือ “กระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับคืนมาใช้ได้อีก” ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภท 47.07 แต่ในกรณีที่มีการปนเปื้อนด้วยวัสดุอื่น เช่น พลาสติก ยางไม้ สิ่งทอ แก้ว โลหะ เศษอาหาร เฟอร์นิเจอร์แตกหัก และของชำรุดหรือของทิ้งอื่น ๆ เป็นต้น จะเข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล (Municipal Waste) พิกัดอัตราศุลกากร 3825.10.00 ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 

 

นางสาวปรีญาพร กล่าวว่า ปี 2567 คพ. ร่วมกับ กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจพบตู้สินค้าซึ่งสำแดงชนิดสินค้าเป็นกระดาษหรือกระดาษแข็งที่นำกลับคืนมาใช้ได้อีก ตามพิกัดอัตราศุลกากร 47.07 แต่ภายในตู้สินค้ามีวัสดุชนิดอื่นปะปนจำนวนมาก อาทิ โฟม เศษพลาสติก เศษผ้า กระป๋องน้ำอัดลม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ้าอ้อม ถุงมือทางการแพทย์ใช้แล้ว เข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าเศษกระดาษรวมถึงภาคเอกชนที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว คพ. จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดมาตรการกำกับควบคุมการนำเข้าเศษกระดาษและหลักเกณฑ์การพิจารณาระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษที่จะอนุญาตให้นำเข้า โดยมี คพ. กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นคณะทำงาน 

ล่าสุด คพ. ได้ออกประกาศ “หลักเกณฑ์การพิจารณาระดับสิ่งปะปนของเศษกระดาษที่จะนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2568” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมการนำเข้าเศษกระดาษอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งประกาศฉบับนี้อิงจากมาตรฐานของสหภาพยุโรป โดยกำหนดสิ่งต้องห้ามในเศษกระดาษ ได้แก่ สารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย กัมมันตภาพรังสี มูลฝอยติดเชื้อ และขยะพิษจากชุมชน และกำหนดร้อยละของสิ่งปะปนอื่นที่ไม่ใช่กระดาษ เช่น พลาสติก โลหะ แก้ว วัสดุสังเคราะห์ ไม้ ดิน เป็นต้น ต้องไม่เกิน 2 % สำหรับเศษกระดาษที่แยกชนิดมาแล้ว ได้แก่ 47.07.10 (กระดาษคราฟท์หรือกระดาษลูกฟูก) 47.07.20 (กระดาษขาว) 47.07.30 (กระดาษหนังสือพิมพ์) และไม่เกิน 3 % สำหรับเศษกระดาษรวม ตามพิกัดอัตราศุลกากร 47.07.90 นางสาวปรีญาพร กล่าว

Visitors: 3,030,315