ไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญา ณ นครเจนีวา
ไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญา ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือระดับภูมิภาคและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการจัดการของเสียและสารเคมีอันตรายอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการค้าระหว่างประเทศ และการปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญา ประจำปี 2568 (BRS-COPs 2025) ประกอบด้วยอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด สมัยที่ 17 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ สมัยที่ 12 และการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน สมัยที่ 12 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 9 พฤษภาคม 2568 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้หัวข้อ “ทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นให้มองเห็นได้ : การจัดการสารเคมีและของเสียอย่างเหมาะสม” (Make Visible the Invisible: Sound Management of Chemical and Waste) การประชุมดังกล่าวได้รวมถึงการประชุมผู้แทนระดับสูง (High-level Segment) ในวันที่ 30 เมษายน 2568 และ1 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาบาเซลฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2541 มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย โดยก่อนการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านของเสียอันตรายไปยังประเทศอื่น จะต้องแจ้งขอความยินยอมล่วงหน้าจากหน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยให้ภาคยานุวัติอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 มีจุดมุ่งหมายเพื่อความรับผิดชอบระหว่างประเทศในการค้าสารเคมีทางอุตสาหกรรมและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่ถูกกำหนดเป็นสารเคมีต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด โดยแจ้งข้อมูลล่วงหน้าก่อนการนำเข้า – ส่งออก รวมทั้งปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายของสารเคมี รวมทั้งให้สัตยาบันอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดและเลิกการผลิตและการใช้ และการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (สาร POPs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษ สะสมในสิ่งมีชีวิต ตกค้างยาวนานและสามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในสิ่งแวดล้อม
ในการประชุมรัฐภาคีครั้งนี้ประเทศไทยได้แสดงท่าทีในประเด็นสำคัญ สำหรับ 3 อนุสัญญา ดังนี้
อนุสัญญาบาเซลฯ สนับสนุนกรอบแผนงานยุทธศาสตร์ฉบับปรับปรุงใหม่ การปรับปรุงการทำงานของกระบวนการแจ้งขอความยินยอมล่วงหน้า และแนวปฏิบัติทางด้านเทคนิควิชาการในการจัดการของเสียอันตรายอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สนับสนุนข้อเสนอการบรรจุรายชื่อสารเคมีเพิ่มเติมในภาคผนวกที่ 3 จำนวน 10 รายการ ประกอบด้วย กลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ (Pesticides) จำนวน 6 รายการ ได้แก่ (1) Chlorpyrifos (2) Methyl bromide (3) Paraquat (4) Iprodione (5) Acetochlor และ (6) Carbosulfan กลุ่มสารเคมีอุตสาหกรรม (Industrial Chemicals) จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (1) Mercury และ (2) Chrysotile asbestos และกลุ่มสูตรผสมของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง (Highly Hazardous Pesticide formulations : HPFs) จำนวน 2 รายการ ได้แก่ (1) fenthion (ultra-low-volume formulations at or above 640 g active ingredient/L) และ (2) liquid formulations (emulsifiable concentrate and soluble concentrate) containing paraquat dichloride at or above 276 g/L, corresponding to paraquat ion at or above 200 g/L และข้อเสนอของประเทศในแถบแอฟริกาในการแก้ไขข้อบท 16 ในการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกแก่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีข้อจำกัดด้านศักยภาพและขีดความสามารถด้านเทคนิควิชาการและการเงิน ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถการจัดการสารเคมีและการดำเนินงานตามพันธกรณี
อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ไม่คัดค้านการบรรจุรายชื่อสารเคมีเพิ่มเติมในภาคผนวก เอ (การเลิกใช้) จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ (1) Chlorpyrifos (2) Chlorinated paraffins with carbon chain lengths in the range C14–17 and chlorination levels at or exceeding 45 percent chlorine by weight และ (3) Long-chain perfluorocarboxylic acids, their salts and related compounds โดยมีข้อยกเว้นพิเศษตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาทบทวนสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน
การสนับสนุนผู้แทนประเทศไทยเป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องของ 3 อนุสัญญา
ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุมรัฐภาคี 3 อนุสัญญาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการบริหารจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย สนับสนุนการพัฒนากลไกการดำเนินงานในการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตราย การควบคุมการนำเข้า-ส่งออก และการใช้สารเคมีอันตราย รวมทั้ง ได้รับการถ่ายทอดแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด และแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด ความร่วมมือระดับภูมิภาคและองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในการจัดการของเสียและสารเคมีอันตรายอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการค้าระหว่างประเทศ และการปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม