สสว.เดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการต่อเนื่อง ผ่านระบบ BDS

ผ่านไปอย่างน่าประทับใจ สำหรับกิจกรรมชี้แจงโครงการเพื่อเปิดรับสมัครผู้ประกอบการ SME ภายใต้ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน ตอกย้ำความมุ่งมั่น สสว. ที่ยังคงเดินหน้าพัฒนาและยกศักยภาพผู้ประกอบการ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการถึง 17,570 ราย และมีการยื่นข้อเสนอการพัฒนาแล้ว ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) ซึ่งเดิมมี 98 บริการ ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็น 406 บริการ ครอบคลุมทุกสาขาบริการ เป็นต้นว่า ด้านมาตรฐาน, การบริหารจัดการธุรกิจ, การตลาด รวมไปถึงด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน งานนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงเคล็ดลับการขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยให้บริการต่างๆ ของรัฐบาล ในแบบร่วมจ่าย รวมถึงต้องจัดเตรียมเอกสารอย่างไร จึงอนุมัติเร็ว

ภายในงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจัดขึ้นที่ ห้องโทพาส โรงแรมแกรน ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น นนทบุรี มีผู้บริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมบอกเล่าถึง การดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านระบบการให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาธุรกิจของตน ในรูปแบบที่สามารถเลือกรับบริการที่ตรงตามความต้องการของตน จากหน่วยให้บริการต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน พร้อมส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน โดยในปี 2567 นี้ สสว.ได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินการให้สะดวกขึ้น หลากหลายขึ้น และมุ่งเป้ามากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่ผ่านการอัปเกรดอย่างเข้มข้น โดยระบบ DBS นี้ สสว. จะให้เงินอุดหนุนปรับปรุงกิจการใน 4 ด้าน ที่สำคัญ คือ

1.ด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ เช่น การเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐาน เพื่อการขึ้นทะเบียน ใบรับรอง การประเมินสถานที่ เช่น มาตรฐาน อย., มผช., ISO, GMP, HACCP, Q Mark, มาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก และมาตรฐานอื่นๆ ที่ช่วยสร้างความเชื่อถือหรือเพิ่มมูลค่าให้กับ SME เช่น การตรวจวิเคราะห์ประเมินต่างๆ, สอบเทียบเครื่องมือทุกประเภท, การขอมาตรฐาน, ใบอนุญาต รวมถึงการต่ออายุ เช่น ใบอนุญาต อย., GMP, ISO รวมทั้ง การใช้บริการกับโรงงานต้นแบบ หรือ Prototype Plant หรือที่มีลักษณะเดียวกัน

2.ด้านการพัฒนาช่องทางการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า, การเจรจาการค้าหรือจับคู่ธุรกิจ, การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการค้าด้วยระบบ Online ผ่าน Platform ที่มีชื่อเสียง, การส่งเสริมการจัดทำแผนหรือกลยุทธ์ในการขยายสินค้า และบริการ การสร้างการรับรู้แบรนด์, การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนหรือคู่ค้าในต่างประเทศ, การส่งเสริมหรือผลักดันเข้าสู่การเป็นเครือข่ายสินค้า และหรือบริการ กับธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น

3.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ทุกประเภท บริการพัฒนาสินค้าและบริการกลุ่มประเภท BCG หรือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงบริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า และการออกแบบสื่อต่างๆ บริการในการพัฒนาหรือการนำระบบ AI, ERP หรือระบบอื่นๆ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และธุรกิจ บริการด้านบัญชีการเงิน เช่น ระบบบัญชี การจัดทำบัญชี เป็นต้น

4.ด้านการพัฒนาและบริหารธุรกิจ เช่น บริการด้านการอบรมเชิงลึกเพื่อให้ได้รับใบรับรองหรือใบประกาศนียบัตร การอบรมแบบ In-House Training บริการการ Implement การตรวจสอบ ติดตาม ประเมิน การใช้เครื่องมือ เพื่อวัดความพร้อมหรือวัดความสำเร็จ หรือการอบรมให้แก่บุคลากรทางธุรกิจ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับสมรรถนะพนักงานในสถาน ประกอบการ ด้านบัญชีการเงิน การบริหารจัดการธุรกิจดิจิทัล AI ระบบ ERP และการอบรมตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยปัจจุบัน มีหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนประมาณ 200 หน่วยงาน ที่เข้ามาขึ้นทะเบียน และเข้ามาให้บริการแล้วกว่า 90 หน่วยงาน ครอบคลุมกว่า 400 บริการ

Visitors: 1,998,927