สำนักงาน คปภ.จับมือภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมใจกันลงพื้นที่ เร่งกระจายช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่

นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบของพายุ "ยางิ" ทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยเป็นการเร่งด่วน โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงราย และภาคธุรกิจประกันภัย ได้แก่ สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิตอีกหลายแห่ง ได้เร่งระดมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกระจายลงไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อมอบถุงยังชีพ น้ำดื่ม อาหารแห้ง เชือก อุปกรณ์ทางด้านความปลอดภัย รวมถึงจัดตั้งครัวทำอาหารบรรจุกล่องแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย

          รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องต้นแล้ว สำนักงาน คปภ. และธุรกิจประกันภัยได้เตรียมแผนรับมือในการเยียวยาให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยในหลายมิติ โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัยขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อเปิดรับแจ้งเหตุ ให้ข้อมูลด้านการประกันภัย และชี้แจงสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยในทุก ๆ ช่องทาง รวมถึงสนับสนุนด้านการซ่อมแซมยานพาหนะ การฟื้นฟูที่พักอาศัย สถานประกอบการที่ได้รับความเสียหาย พร้อมทั้งติดตาม เร่งรัดการตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่ได้จัดทำประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยที่อยู่อาศัย ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล รวมไปถึงผู้ที่ทำประกันชีวิต ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ รีบแจ้งเหตุให้บริษัทประกันภัยทราบ เพื่อเข้าไปดูแลและจัดการ Claim อย่างทันท่วงที โดยเบื้องต้นสำนักงาน คปภ.ขอแนะนำให้ประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัย จัดเก็บข้อมูลความเสียหายขั้นต้นเอาไว้ด้วย เพื่อความสะดวกในการแจ้ง Claim เช่น ภาพถ่ายรถยนต์ หรือทรัพย์สินที่เสียหาย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดในพื้นที่ พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกันภัย รวมถึงให้คำแนะนำขั้นตอนการขอรับค่าสินไหมทดแทน โดยเปิดให้บริการผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ สายด่วน คปภ. 1186 และ Line Official Account รวมทั้ง Facebook Page หรือเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.oic.or.th  

Visitors: 1,998,950