ไทยเจ้าภาพประชุมอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ครั้งที่ 35 เดินหน้าสู่ความหลากหลายทางชีวภาพโลก

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานอาเซียน ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงข่าวประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมคณะทำงานอาเซียน ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 35 (ASEAN Working Group on Nature Conservation and Biodiversity : AWGNCB) และการประชุมคณะกรรมการอุทยานมรดกอาเซียน ครั้งที่ 12 (ASEAN Heritage Park Committee: AHP Committee) ซึ่งประเทศ จะเป็นเจ้าภาพในรอบ 10 ปี โดยเรียงตามลำดับตัวอักษร กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–30 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรม Hilton Bangkok Grande Asoke กรุงเทพมหานคร

ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยว่า สผ. เป็นหน่วยงานหลัก ของประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพหลักและทำหน้าที่รองประธานการประชุมในปีนี้ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ASEAN Power for Sustainable Biodiversity” หรือ “พลังอาเซียนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลาย ทางชีวภาพของโลกให้บรรลุเป้าหมายภายในปี พ.ศ.2573 

ประเด็นสำคัญคือจะสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานในระดับภูมิภาค เพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยให้การสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียน เพิ่มพื้นที่อุทยานมรดกอาเซียน ขยายพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง เพิ่มพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง การอนุรักษ์พื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางนกน้ำอพยพ

เสนอกรณีศึกษา ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพบก ซึ่งนอกจากจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแล้ว ความโดดเด่นและลักษณะธรรมชาติของพื้นที่ดังกล่าวยังได้รับการรับรองให้เป็นพื้นที่เครือข่ายนกน้ำอพยพ ในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย พื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่สำคัญทั้งในระดับอาเซียน เอเชียตะวันออก ไปจนถึงออสเตรเลีย และเป็นแหล่งดึงดูดนักอนุรักษ์และนักดูนกจากทั่วโลก ประชาชนในพื้นที่นอกจากจะได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวแล้ว ยังมั่นใจได้ว่า พื้นที่บางปู จะเป็นปอดและแหล่งพักผ่อนตามธรรมชาติให้กับชุมชนเมืองและชุมชนอุตสาหกรรม พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำให้กับประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับเยาวชนที่จะทำหน้าที่อนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปในอนาคต

ซึ่งการประชุม AWGNCB ครั้งที่ 35 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26–30 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพ แกรนด์ อโศก กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่จากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และ ติมอร์-เลสเต ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 ราย

สำหรับกิจกรรมภายในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การประชุมคณะกรรมการอุทยานมรดกอาเซียน ครั้งที่ 12 จัดโดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 การศึกษาดูงาน สำหรับผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่27 พฤษภาคม 2568 ณ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด และสวนพฤกษศาสตร์ระยอง

ด้านนายสมวรรฒน์ ปัญญานุกุล ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุม 12th AHP Committee และการจัดการศึกษาดูงาน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงแสดงศักยภาพของประเทศไทยด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ

ทั้งนี้จะมีการจัด นิทรรศการคู่ขนาน ในหัวข้อ “อุทยานมรดกอาเซียน” และ “การอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ” ระหว่างวันที่ 26–30 พฤษภาคม 2568 โดยความร่วมมือจาก 8 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) องค์การสวนพฤกษศาสตร์องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และเครือข่าย เยาวชนระดับโลก เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำประเทศไทย

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะแสดงบทบาทนำในการขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพในระดับภูมิภาค และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวทาง และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอนาคต

Visitors: 3,025,476